ม.ราชภัฏสุราษฎร์ฯ-วิสาหกิจชุมชนเคดี ศรีวิชัย ดึงหลักสูตรต่อยอดกัญชาสมุนไพรผลักดันสู่ตลาดสุขภาพอย่างถูกกฎหมาย ตอบโจทย์การแพทย์ภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับวิสาหกิจชุมชนเคดี ศรีวิชัย ดึงหลักสูตรร่วมศึกษา วิจัยและพัฒนา “กัญชาและกัญชง” หวังประโยชน์ทางการแพทย์ การสาธารณสุขและวิทยาศาสตร์ ภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ผลักดันเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยาเสพติดให้โทษ พัฒนาเข้าสู่กระบวนการอุตสาหกรรม เกษตรกรรม ตลอดตามภูมิปัญญา สามารถจําหน่ายและพัฒนานวัตกรรมที่ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจแก่ชุมชนได้ โดยมี ผศ.ดร.วัฒนา รัตนพรหม รักษาราชการแทนอธิการบดี พร้อมด้วย ดร.นรา พงษ์พานิช ผู้อํานวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา เป็นผู้ลงนามร่วมกับ นายธีระกิจ หวังมุทิตากุล ประธานวิสาหกิจชุมชนเคดี ศรีวิชัย และนายอร่าม ลิ้มสกุล (ลุงดำ เกาะเต่า) ปราชญ์กัญชา/หมอพื้นบ้าน เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 ณ ห้องประชุมราชพฤกษ์ 4 ชั้น 3 อาคารสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี
.
ผศ.ดร.วัฒนา รัตนพรหม รักษาราชการแทนอธิการบดี กล่าวว่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้มีการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาเมืองสมุนไพรแบบครบวงจร ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ทั้งการปลูกสมุนไพรและการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพร เพื่อเป็นการเตรียมทำความร่วมมือในเรื่องการสร้างองค์ความรู้ และนวัตกรรมในการพัฒนาด้านพืชสมุนไพรเพื่อสุขภาพผ่านงานวิจัยและงานบริการวิชาการของนักวิจัย มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ที่สอดรับกับการนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ตลอดจนการบริการทางสาธารณสุขและสุขภาพแบบครบวงจร โดยเฉพาะในบริบทของห่วงโซ่แห่งคุณค่า (Value Chain) ที่มุ่งสู่ “โมเดลเศรษฐกิจใหม่” หรือ “BCG Economy Model” ภายใต้กรอบและประเด็นในด้านการเพาะปลูก การแปรรูปผลิตภัณฑ์ การศึกษาพิษวิทยาของกัญชา การบริหารจัดการการตลาดเชิงพาณิชย์ การสร้างนวัตกรรมการสร้างและพัฒนากำลังคน เพื่อการถ่ายทอดสู่ผู้ประกอบการกลุ่มวิสาหกิจชุมชน และเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ชุมพร และระนอง เช่น เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง/สปา เครื่องปรุงรส และอาหารเสริมเพื่อสุขภาพ
.
ด้าน นายธีระกิจ หวังมุทิตากุล ประธานวิสาหกิจชุมชนเคดี ศรีวิชัย เปิดเผยว่า การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี สามารถสนับสนุนองค์ความรู้สู่ชุมชนได้มีการขับเคลื่อนและพัฒนาไปด้วยกัน พร้อมมีงานวิจัยรองรับการศึกษาเรื่องพืชสมุนไพรประเภทกัญชาและกัญชง เป็นข้อมูลที่สร้างความน่าเชื่อถือได้
.
ส่วน นายอร่าม ลิ้มสกุล ปราชญ์กัญชา/หมอพื้นบ้าน กล่าวว่า ในอนาคตสำหรับกัญชาในจังหวัดสุราษฎร์ธานี จะกลายเป็นพืชเศรษฐกิจ ส่งเสริมช่องทางการสร้างรายได้ให้แก่ประชาชน และมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีเป็นศูนย์กลางของนักวิชาการที่สามารถเผยแพร่องค์ความรู้และมีความพร้อมในทุกด้าน ทั้งทรัพยากรบุคคล ตลอดอุปกรณ์เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาทดลองในด้านต่างๆ ได้อย่างเชี่ยวชาญ
.
สำหรับพิธีลงนามความร่วมมือบันทึกข้อตกลงด้านพืชสมุนไพรไทยเพื่อสุขภาพของวิสาหกิจชุมชนเคดี ศรีวิชัย ในครั้งนี้ เพื่อสร้างความร่วมมือแบบบูรณาการศาสตร์ในด้านวิชาการ การวิจัยและพัฒนาที่เป็นไปตามพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. 2562 และมาตรฐานการอุดมศึกษา พ.ศ. 2561 เพื่อก่อให้เกิด ความสามารถในการสร้าง พัฒนา และนําผลงานที่เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือ ไปใช้ประโยชน์ในภาคการผลิตและ บริการโดยเฉพาะว่าด้วยวิชาการ การวิจัยและพัฒนา “กัญชาและกัญชง” เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ การสาธารณสุขและวิทยาศาสตร์ ภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDGs) และสามารถนําผลิตภัณฑ์จากกัญชาที่ไม่ใช่ยาเสพติดให้โทษ ไปใช้ประโยชน์อื่น ทั้งด้านอุตสาหกรรม เกษตรกรรมและสร้างมูลค่าทางด้านเศรษฐกิจ ตลอดจนสามารถนํามาใช้ ตามภูมิปัญญา และสามารถจําหน่ายและพัฒนานวัตกรรมที่ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจแก่ชุมชนได้
#สื่อสารองค์กรมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี
นายอดิสรณ์ เนาวโคอักษร/กนกรัตน์ ศรียาภัย ข่าว
นายสมยศ นุ่นจำนงค์ ภาพ
นายเทพรวี ทวีเฉลิมดิษฐ์ ออกแบบ
https://www.facebook.com/media/set?vanity=ccd.sru.ac.th&set=a.1371531353368417